วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หลักฐานทางโบราณคดี

หลักฐานทางโบราณคดี : บ้านโคกกระต่ายมีสภาพเป็นเนินดินสูงประมาณ 60 ซม. จากท้องนาโดยรอบ มีพื้นที่ของเนินทั้งหมดประมาณ 30 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนถูกปรับสภาพให้เป็นทุ่งนา บางส่วนมีการไถปาดเอาหน้าดินออกไป ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนินมีศาลไม้ขนาดเล็กตั้งอยู่ ชาวบ้านเรียกว่าศาลพระเจ้าตากสิน โบราณวัตถุที่พบบนผิวหน้าดิน และที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้จะมีลักษณะดังนี้ คือ
1. ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ พบเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเนิน ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นที่ตั้งค่าย ลักษณะเศษภาชนะเป็นเนื้อหยาบมีรูพรุนมาก เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ สีน้ำตาลแดง สีน้ำตาล สีดำ และสีขาวขุ่น เป็นภาชนะผิวเรียบไม่มีการตกแต่งผิว
2. ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง พบเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่จะตั้งอยู่บริเวณกลางเนิน และ ทางทิศตะวันออกของเนินซึ่งอยู่ติดกับหนองน้ำ
3. ลูกปัดแก้ว จากการสำรวจพบจำนวน 3 ลูก เป็นลูกปัดแก้วสีฟ้า แบบลูกปัดสมัยทราวดี
4. ปี้ เป็นลักษณะเหรียญทรงกลม ทำจากเครื่องเคลือบเนื้อแกร่งสีขาว ด้านหน้ามีตัวอักษรจีน 4 ตัว เขียนด้วยสีครามอยู่ในวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. ใช้แทนเงินสดสำหรับเล่นพนันในบ่อนต่าง ๆ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
5. กระปุกขนาดเล็ก เนื้อแกร่งสีขาวขุ่น ก้นตัดตรง ปากตรง เป็นเครื่องถ้วยจีนแบบชิงไป๋ พุทธศตวรรษ ที่ 17-19 สันนิฐานว่าใช้สำหับใส่เครื่องหอม
6. กล้องยาสูบดินเผา เนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ผิวเรียบไม่มีการตกแต่ง ปลายกล้องบานออก ตัวกล้องบริเวณที่ใช้สูบชำรุด
7. ลวดลายประดับภาชนะดินเผา ลักษณะเป็นดินเผาเนื้อแกร่งสีเทาดำ เป็นรูปคล้ายลายกระจังปลายม้วนเข้าด้านใน 8. ส่วนหัวตุ๊กตาเสียกบาล ทำจากดินเผาเนื้อหยาบ สี้น้ำตาลแดง ลักษณะเป็นหัวตุ๊กตามีจุกม้วนอยู่บนศีรษะ ลายละเอียดของส่วนใบหน้าไม่มี มีเฉพาะจมูก และหู ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา
9. เศษอิฐ พบบริเวณกลางเนินลักษณะเป็นแนวเรียงอิฐ เป็นแนวจากชั้นตัดของหน้าดินจะเห็นแนวของอิฐบด และปูนขาวอัดแน่นเป็นรากฐาน

ภาพบรรยากาศค่ายโคกกระต่าย