วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

หลักฐานทางโบราณคดี

หลักฐานทางโบราณคดี : บ้านโคกกระต่ายมีสภาพเป็นเนินดินสูงประมาณ 60 ซม. จากท้องนาโดยรอบ มีพื้นที่ของเนินทั้งหมดประมาณ 30 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนถูกปรับสภาพให้เป็นทุ่งนา บางส่วนมีการไถปาดเอาหน้าดินออกไป ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนินมีศาลไม้ขนาดเล็กตั้งอยู่ ชาวบ้านเรียกว่าศาลพระเจ้าตากสิน โบราณวัตถุที่พบบนผิวหน้าดิน และที่ชาวบ้านเก็บรักษาไว้จะมีลักษณะดังนี้ คือ
1. ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ พบเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเนิน ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นที่ตั้งค่าย ลักษณะเศษภาชนะเป็นเนื้อหยาบมีรูพรุนมาก เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ สีน้ำตาลแดง สีน้ำตาล สีดำ และสีขาวขุ่น เป็นภาชนะผิวเรียบไม่มีการตกแต่งผิว
2. ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง พบเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่จะตั้งอยู่บริเวณกลางเนิน และ ทางทิศตะวันออกของเนินซึ่งอยู่ติดกับหนองน้ำ
3. ลูกปัดแก้ว จากการสำรวจพบจำนวน 3 ลูก เป็นลูกปัดแก้วสีฟ้า แบบลูกปัดสมัยทราวดี
4. ปี้ เป็นลักษณะเหรียญทรงกลม ทำจากเครื่องเคลือบเนื้อแกร่งสีขาว ด้านหน้ามีตัวอักษรจีน 4 ตัว เขียนด้วยสีครามอยู่ในวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. ใช้แทนเงินสดสำหรับเล่นพนันในบ่อนต่าง ๆ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
5. กระปุกขนาดเล็ก เนื้อแกร่งสีขาวขุ่น ก้นตัดตรง ปากตรง เป็นเครื่องถ้วยจีนแบบชิงไป๋ พุทธศตวรรษ ที่ 17-19 สันนิฐานว่าใช้สำหับใส่เครื่องหอม
6. กล้องยาสูบดินเผา เนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ผิวเรียบไม่มีการตกแต่ง ปลายกล้องบานออก ตัวกล้องบริเวณที่ใช้สูบชำรุด
7. ลวดลายประดับภาชนะดินเผา ลักษณะเป็นดินเผาเนื้อแกร่งสีเทาดำ เป็นรูปคล้ายลายกระจังปลายม้วนเข้าด้านใน 8. ส่วนหัวตุ๊กตาเสียกบาล ทำจากดินเผาเนื้อหยาบ สี้น้ำตาลแดง ลักษณะเป็นหัวตุ๊กตามีจุกม้วนอยู่บนศีรษะ ลายละเอียดของส่วนใบหน้าไม่มี มีเฉพาะจมูก และหู ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา
9. เศษอิฐ พบบริเวณกลางเนินลักษณะเป็นแนวเรียงอิฐ เป็นแนวจากชั้นตัดของหน้าดินจะเห็นแนวของอิฐบด และปูนขาวอัดแน่นเป็นรากฐาน

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประวัติ

ประวัติความเป็นมาของโคกกระต่าย


ชื่อแหล่ง : บ้านโคกกระต่าย
ที่ตั้ง : หมู่ 2 บ้านโคกกระต่าย ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
อายุสมัย : กรุงศรีอยุธยา (รัตนโกสินทร์ตอนต้น)
ประวัติ : ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา
เมื่อปี พ.ศ.2317 พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าจุ้ย กับพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็กยกทัพไทยจำนวน 3,000 คน ออกมาตั้งรักษาเมืองราชบุรี เนื่องจากอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าได้ให้งุยอคงหวุ่นคุมพล 5,000 คนยกกองทัพตามครอบครัวมอญที่อพยพหนีเข้ามา กองทัพพม่า สามารถตีองทัพไทยที่รักษาค่ายท่าดินแดงแตก แล้วยกเข้ามาตั้งค่ายที่ปากแพร่ หลังจากนั้นได้แบ่งพลออกเป็น 2 กอง ที่เหลือ 3,000 คนยกลงมาตามแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตกเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม และเมืองเพชรบุรี เมื่อมาถึงตำบลนางแก้วทราบว่ามีกองทัพไทยตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี งุยอคงหวุ่นจึงให้หยุดทัพตั้งค่าย บริเวณตำบลโคกกระต่ายในทุ่งธรรมเสน เป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพไทย ซึ่งนำโดยพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าจุ้ย พื้นที่บริเวณโคกกระต่ายนี้ชาวบ้านเคยขุดพบกระดูกคน และสัตว์เป็นจำนวนมาก และจากการไถปาดหน้าดินจะพบเศษภาชนะดินเผากระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ

ภาพบรรยากาศค่ายโคกกระต่าย